Quantcast
Channel: Praew (แพรว) – All Luxe You Can Reach
Viewing all articles
Browse latest Browse all 22209

จากแคชเมียร์ สู่ทัชมาอาล (ตอนที่1) No ratings yet.

$
0
0

แล้วความฝันก็กลายเป็นจริง หลังลงจากเครื่องบินที่สนามบินศรีนคร (Srinagar) เมืองหลวงของแคชเมียร์ เมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานมีทะเลสาบขนาดใหญ่คือ ทะเลสาบดาลและทะเลสาบนากิ้น ที่มีฉากหลังเป็นเทือกเขาโอบล้อม

1

จากการอ่านประวัติศาสตร์พอรู้มาบ้างว่า ชาวแคชเมียร์นั้นมีบรรพบุรุษมาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซียนับถือศาสนาอิสลาม ที่เดินทางมาค้าขาย แล้วตั้งรกรากที่นี่เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 และลูกหลานก็อยู่กันต่อมา กลายเป็นชาวมุสลิมที่มีความสุภาพอ่อนน้อม และมีรูปร่างหน้าตาคมเข้มแบบแขกขาว

ถึงแล้วแคชเมียร์

ออกจากสนามบิน มีไกด์หนุ่มรูปหล่อพาไปที่พักคือ บ้านเรือ (House Boat) หรือเรียกว่าวิมานลอยน้ำก็ได้ ในทะเลสาบดาล (DalLake) แห่งนี้มีบ้านเรือราว 1,600 ลำ เป็นบ้านเรือที่ตกทอดมาจากยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ ด้วยแคว้นชัมมู – แคชเมียร์มีธรรมชาติสวยงามอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี จึงเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ชาวอังกฤษแห่กันเข้ามาเป็นจำนวนมาก กระทั่งจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ชาฮาบุดดีน มุฮัมมัดคุรรัม ชาห์ชะฮัน ที่ 1 ตั้งกฎมิให้ชาวอังกฤษถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินปลูกบ้านในแคชเมียร์ คนอังกฤษจึงสร้างบ้านเรือหรูหราจากไม้ซีดาร์เรียงรายลอยลำอยู่ในทะเลสาบเป็นชุมชนขนาดใหญ่แทน

2

เมื่ออินเดียได้รับเอกราช ชาวแคชเมียร์ที่อยู่อาศัยดั้งเดิมจึงได้กรรมสิทธิ์เรือ แล้วดัดแปลงเป็นที่พักแกะไม้สลักวิจิตรบรรจงทั้งลำเรือตรงระเบียงชมวิวที่เรียกว่า facade มีรูปลักษณ์เป็นเอกลักษณ์ไม่ต่างจากการตกแต่งภายในสไตล์เปอร์เซีย

บ้านเรือที่ดิฉันพักมีห้องนั่งเล่นโอ่โถง พื้นปูพรมหนานุ่ม มีห้องพัก4 ห้อง ห้องน้ำในตัว เจ้าของเรือมาคอยดูแลทุกวัน มีเด็กหนุ่มประจำเรือสองคนคอยบริการอาหารมื้อเช้ากับมื้อเย็น

ตามโปรแกรมเที่ยวของไกด์ วันรุ่งขึ้นมีการล่องทะเลสาบดาลทะเลสาบใหญ่ที่สุดในรัฐชัมมู – แคชเมียร์ โดยเรือชิคารา (Shikara)ที่จอดตลอดแนวริมฝั่งทะเลสาบติดกับถนนบูเลอวาร์ด

เรือชิคาราเป็นเรือไม้ลำเล็กสีสันจัดจ้าน รอบเรือประดับด้วยผ้าพื้นเมืองสีสดใส ในเรือมีเบาะนั่งทำด้วยผ้าแคชเมียร์หนานุ่มนั่งเอนตัวได้ตามสบาย และที่เก๋สะดุดตาก็ตรงใบพายรูปหัวใจซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือชิคาราที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก

คนพายเรือชิคาราพาล่องในทะเลสาบดาลที่มีอาณาบริเวณกว้างมีเกาะกลางทะเลสาบ และเรือสินค้าพายเข้ามารุมล้อมหลายลำด้วยกันที่น่าสนใจคือ มีเรือขายดอกไม้สีสวยกลิ่นหอม พ่อค้าเสนอขายทั้งดอกไม้และเมล็ดพันธุ์ มีความอดทนในการขายสูงมาก อย่างที่เรียกว่าขายไม่ได้ไม่ยอมแยกไปจากเรือที่เรานั่งเลย

5

ดิฉันนั่งเรือชมทิวทัศน์เข้าไปในชุมชนเก่าแก่ของทะเลสาบ เห็นชาวบ้านปลูกผักสวนครัวลอยน้ำ ชาวศรีนครออกเสียงคำว่า “Rad”ตามภาษาแคชเมียร์แปลว่า แปลงผักลอยน้ำ ไกด์บอกว่า จริง ๆ แล้วเป็นรากของหญ้าชนิดหนึ่งคล้ายหญ้าคา ขึ้นเป็นกอหนาจนนำมาเพาะปลูกได้ในฤดูร้อนชาวบ้านจะนำไม้มาปักกั้นเป็นช่อง นำสาหร่ายในทะเลสาบมาถมทับกับดินหลายชั้นจนเป็นพื้นที่เพาะปลูกเหมือนทะเลสาบอินเลในพม่า

คนพายเรือชิคารายังพาล่องเข้าไปถึงบ้านที่เป็นโรงงานแกะสลักไม้ร้านขายผลไม้แห้ง ร้านขายพรมแคชเมียร์ ร้านขายผ้าพัชมีนา (Pashmina)หรือแคชมีนา ซึ่งเป็นผ้าที่ทอกันในครัวเรือน ทำจากขนแพะ (Pasmina Goat) ซึ่งเป็นแพะภูเขาสายพันธุ์พิเศษที่อยู่บนเขาสูงสุดอย่างเทือกเขาหิมาลัย เนปาล ปากีสถาน และตอนเหนือของอินเดีย คุณสมบัติของผ้าพัชมีนาคือ เป็นผ้าบาง น้ำหนักเบา แต่ให้ความอบอุ่นแม้อุณหภูมิต่ำและให้ความรู้สึกอ่อนนุ่ม ห่มอุ่นสบายในฤดูร้อน

ล่องทะเลสาบดาลมาถึงท่าเรือข้ามฟาก ไกด์พาไปรับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคาร อิ่มแล้วพาไปชมสถาปัตยกรรมที่มัสยิดจามี (Jami Masjid) เป็นมัสยิดกลางที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมโดดเด่นมากสร้างจากไม้ทั้งหลัง อายุกว่า 600 ปี มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่กับแคชเมียร์

6

มัสยิดนี้มีธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาอย่างเคร่งครัดว่า ผู้หญิงทุกคนต้องมีผ้าคลุมผมก่อนเข้ามัสยิด นักท่องเที่ยวหญิงที่ไม่ได้เตรียมผ้ามา ต้องก้มศีรษะให้ชายชราหน้ามัสยิดคลุมผมให้ แล้วบริจาคเงินตามจิตศรัทธาค่ะ

เดินผ่านประตูเข้าไป ไกด์บอกว่า มัสยิดแห่งนี้เกิดไฟไหม้มาหลายครั้ง ทำให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์และต่อเติมหลายครั้งเช่นกันดูจากโครงสร้างเป็นหอคอยทรงพีระมิด ยอดแหลมคล้ายเจดีย์ คงปรับแบบมาจากศาสนสถานเดิมที่เป็นศาสนาพุทธและฮินดูผสมกัน

เดินไปตามระเบียงโดยรอบ 4 ด้าน กึ่งกลางของระเบียงทั้งสี่มีซุ้มประตูทางเข้า ภายในมัสยิดมีเสาไม้สนขนาดใหญ่ราว 375 ต้น ปูพรมแคชเมียร์ตลอด พื้นที่กว้างขวาง เดินสบายเท้ามาก ดูจากความกว้างใหญ่แล้วน่าจะจุคนได้มากกว่า 30,000 คนทีเดียว

4

รุ่งขึ้น ไกด์จัดโปรแกรมพาเที่ยวสวนดอกไม้ ตอนแรกไกด์บอกจะพาไปสวนดอกทิวลิป ดิฉันก็มโนภาพเห็นดอกทิวลิปชูช่อเต็มสวน แต่กลายเป็นว่าสวนปิดเพราะเหี่ยวเฉาหมดแล้ว ไกด์ถึงกับยืนงงอยู่หลายนาทีที่มาช้าไป พอไกด์หายงงก็ต้อนขึ้นรถไปสวนชาลิมาร์ (Shalimar Garden)แทน สวนนี้ตามประวัติสร้างขึ้นในสมัยราชวงค์โมกุล โดยจักรพรรดิจาฮันจีร์ (Jahangir) สร้างเพื่อพระมเหสีพระนางนูชาฮัล (Nu Jarhal) ทั้งสองพระองค์เสด็จมาประทับในฤดูร้อน เพราะฤดูร้อนในเมืองอัคระ (Agra) ซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยนั้นอากาศร้อนมาก ๆ นอกจากจะเป็นที่ประทับพักร้อนแล้วยังเป็นสวนสวรรค์ที่อบอวลไปด้วยความรักด้วย

ไกด์พาเข้าไปดูการออกแบบสวนที่มีเทอร์เรซ (Terrace Garden) ระเบียงไล่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามระดับความชันของพื้นที่ เชื่อมกันด้วยทางน้ำเป็นน้ำพุ ส่วนบนสุดมีพาวิเลียนขนาดใหญ่ มีเสาหินอ่อนสีดำที่มีช่องสำหรับวางดอกไม้ประดับในตอนกลางวัน และวางเทียนให้แสงสว่างในตอนกลางคืน เดินจากทางเข้ามาจนสุดสวนมีพลับพลาเป็นที่พักทำจากหินอ่อนสีดำ

3

ออกจากสวนชาลิมาร์ ไกด์พาไปสวนนิชาท (Nishat Garden or Garden of Gladness) ต่อ ไม่ห่างกันนัก สวนนี้เป็นสวนใหญ่ที่สุดในแคชเมียร์ที่มีภูมิทัศน์งดงาม ดูเหมือนสวนชาลิมาร์จะสร้างคล้ายกับสวนนิชาท มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านบน มีเทอร์เรซลดหลั่นกันลงมา 10 ชั้นหันหน้าออกสู่ทะเลสาบดาล แนวตรงกลางของแต่ละชั้นมีน้ำพุยาวเป็นน้ำจากการละลายของหิมะบนภูเขาในหน้าร้อน มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวจากตะวันตกไปตะวันออก548 เมตร จากเหนือไปใต้ 338 เมตร และมีลานทั้งหมด 12 ลานภายในสวนมีต้นเมเปิ้ลอายุกว่า 400 ปี ต้นป็อปลาร์ และดอกไม้ตามฤดูกาลริมทะเลสาบดาล ที่มีเทือกเขาซาบาร์วัน (Zabarwan) เป็นฉากหลัง

ออกจากสวนนิชาทเห็นร้านค้าฝั่งตรงข้าม จึงข้ามถนนไปเดินดูมีร้านขายผ้าพัชมีนา ร้านผลไม้แห้งที่ขึ้นชื่อในแคชเมียร์ น่าเสียดายไม่ได้มาในฤดูหนาว จึงไม่ได้ชิมแอ๊ปเปิ้ลสดที่ปลูกในแคชเมียร์ ที่ว่ากันว่าอร่อยที่สุดในอินเดีย

ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรว ฉบับ 867 ปักษ์วันที่ 10 ตุลาคม 2558

Please rate this

The post จากแคชเมียร์ สู่ทัชมาอาล (ตอนที่1) No ratings yet. appeared first on แพรว.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 22209

Trending Articles



<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>