วันต่อมาเราไปชมสถานที่ซึ่งฉันชอบมากที่สุด นั่นคือ อุทยานแทจงแด (Taejongdae National Park) พวกเรานั่งรถประจำทางจากหน้าโรงแรมไปสุดสาย เสียเงินเพียงคนละ 50 บาท ก็มาถึงอุทยานภายในเวลาเพียง 20 นาที ที่นี่มีครบครันทั้งภูเขาอันแน่นขนัดไปด้วยป่าสน หน้าผาชันสูงกว่าระดับทะเลถึง 150 เมตร และวิวท้องทะเลกว้างสุดสายตา พร้อมร้านอาหารและร้านค้า ถึงแม้จะอยู่สูง แต่พวกเราก็ไม่ต้องเหนื่อย เพราะมีบริการรถลากในราคาเพียงคนละ 90 บาทขึ้นลงตามป้ายที่กำหนดกี่ครั้งก็ได้ และมีรถเวียนมาทุก 15 นาทีเป๊ะ
ระหว่างรอรถก็ไปถ่ายรูปตามจุดชมวิวต่าง ๆ ซึ่งสวยทุกแห่ง โดยเฉพาะจุดไฮไลท์ที่มีรูปปั้นนักเดินเรือผู้มีชื่อเสียงของเกาหลี ประติมากรรมรูปร่างเตะตา และประภาคารสีขาวตั้งโดดเด่นอยู่บนหน้าผา รวมถึงรูปปั้นแม่ลูกด้านหน้าร้านอาหาร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเตือนใจคนคิดสั้นให้นึกถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของแม่ ฉันเลยสงสัยว่า คงมีคนมากระโดดทะเลเพื่อฆ่าตัวตายแล้วหลายราย
พวกเราเดินชื่นชมกับความเขียวชอุ่มของป่าสนและภูเขาดอกวิสทีเรียหอมกรุ่นอย่างเพลิดเพลิน (ข้อดีของการเที่ยวเอง) พร้อมทั้งสูดอากาศบริสุทธิ์จนเต็มปอด ก่อนจะขึ้นรถลากลงมาข้างล่าง แวะกินชาบูชาบู อาหารพื้นเมืองของที่นี่ตั้งแต่สมัยมองโกเลียบุกคาบสมุทรเกาหลี ก่อนจะขึ้นรถเมล์กลับอย่างสะดวกสบาย เย็นวันนั้นจึงจบลงด้วยการหิ้วอาหารกล่องมานั่งกินในห้องนอน เก็บแรงไว้ไปเที่ยวหาดแฮอึนแด (Haeundae Beach) ในวันรุ่งขึ้น
หาดที่ว่านี้อยู่ไม่ไกล แต่เราต้องนั่งรถไฟสองต่อ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง แฮอึนแดเป็นหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของปูซานมีความยาว 1.5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 58,400 ตารางเมตรและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงงานเทศกาลต่าง ๆตลอดปี รายล้อมไปด้วยโรงแรม รีสอร์ตหลายแห่ง และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสำหรับเด็ก ๆ
ถัดจากสถานีแฮอึนแดไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ วัดแฮดองยงกุงซา (Haedong Yonggungsa Temple) ซึ่งสวยงามมาก เพราะอยู่บนโขดหินริมชายหาด มีวิหารและศาลาเรียงรายลดหลั่นกันไปตามโขดหินวัดนี้สร้างขึ้นโดยพระอาจารย์นาออง เมื่อปี ค.ศ. 1376 ในช่วงของราชวงศ์โครยอ ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์สีดำ นอกจากนั้นยังมีเจดีย์สูง 3 ชั้น มังกรยักษ์และสิงโต 4 ตัว อันเป็นสัญลักษณ์ของความสนุก ความโกรธ ความเศร้า และความสุข หลังจากถ่ายรูปกันพอควร ฉันรีบชวนสามีกลับ เพราะต้องการไปกินปูยักษ์ที่ตลาดปลาจากัลชิ (Jagalchi Fish Market) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่พัก
ความตั้งใจที่แปรเปลี่ยน…
หลังจากเดินสำรวจจนทั่วตลาด ซึ่งมีทั้งด้านนอกและภายในตึกหลายชั้นที่มีความยาวเลียบไปตลอดแนวท่าเรือประมาณ 1 กิโลเมตรและเห็นสัตว์ทะเลหน้าตาแปลก ๆ หลากชนิดรวมถึงปูยักษ์มากมาย สามีกับฉันกลับเปลี่ยนใจแม้พนักงานหลายคนในร้านอาหาร ซึ่งมีเรียงเป็นแถวบนชั้นสองพยายามชักชวนด้วยการส่งเมนูมายั่วน้ำลาย ตอนแรกก็เกือบใจอ่อนคิดเข้าข้างตัวเองว่าควรจะให้พวกปูพ้นเวรกรรมจากการถูกขังในตู้แคบ ๆไปเสียเร็ว ๆ แต่แล้วก็เกิดนึกถึงคำกล่าวที่ว่า “บาปคนทำ กรรมคนสั่ง”จึงรีบหดนิ้วเพชฌฆาตที่กำลังชี้เลือกตัวที่จะถูกเอาไปขึ้นเขียงทันที!
สรุป ฉันตัดใจไปเดินช็อบปิ้งให้หายฟุ้งซ่านใน ตลาดนัมโพดง (Nampodong Market) ซึ่งเป็นแหล่งช็อบปิ้งใหญ่อยู่ชั้นใต้ดินของทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟนัมโปกับสถานีจากัลชิ ที่นี่มีทั้งเสื้อผ้าเครื่องประดับ เครื่องสำอาง ของที่ระลึก และร้านอาหารมากมายนอกจากนั้นในเดือนตุลาคมของทุกปี ย่านนัมโพดงยังเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ปูซาน [Busan International Film Festival (BIFF)] ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ผู้ที่ได้รับรางวัลจะมาประทับมือบนแผ่นทองแดงไว้ที่นี่
แม้ในที่สุดฉันจะไม่ได้ลิ้มลองรสชาติของปูยักษ์ตามที่ใฝ่ฝันแต่ตลอดเวลา 5 วันเต็มในปูซาน ทำให้ฉันเห็นว่าภายในระยะเวลาสิบกว่าปีประเทศเกาหลีใต้ไม่ได้มีพัฒนาการที่เจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเหมือนบางประเทศ แต่ประชาชนคนเกาหลีมีพัฒนาการทางด้านจริยธรรมไปพร้อม ๆ กัน เพราะไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน พนักงานขาย คนขับแท็กซี่ เจ้าหน้าที่โรงแรม ฯลฯ ทุกคนมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสและพร้อมจะช่วยเหลือนักท่องเที่ยวด้วยความเต็มใจ ทำให้ฉันรู้สึกไม่ต่างจากเวลาไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น
สำหรับฉัน อัธยาศัยไมตรีของผู้คนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการดึงดูดนักท่องเที่ยว ฉันชอบโฆษณาประเทศไทยของการท่องเที่ยวฯ ที่พูดถึงวิถีชีวิตของคนไทย (“The Way of Thai”) ว่า “When we are shy we smile…when we don’t have enough we give…a way of unique happiness and it begins with the people” (เวลาเราอาย เราจะยิ้ม…เวลาเรามีไม่พอ เราจะให้…วิถีแห่งความสุขอันเป็นเอกลักษณ์…และทั้งหมดเริ่มต้นที่คนไทย) ฉันอยากให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาเมืองไทยเป็นเวลานาน มีความรู้สึกว่า ถึงแม้ประเทศเราจะไม่ได้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นทางด้านวัตถุ
แต่อย่างน้อยคนไทยก็ยังคงมีจิตใจงดงามที่พร้อมจะเป็นผู้ให้และมีรอยยิ้มต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ เหมือนที่ฉันกำลังรู้สึกกับเคียงจูและปูซานในขณะนี้…
ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรว ฉบับ 872 ปักษ์ที่ 25 ธันวาคม 2558
The post BUSAN & GYEONGJU รู้อย่างนี้ไปตั้งนานแล้ว (ตอนที่ 2) appeared first on แพรวดอทคอม.