อาหารที่มีโซเดียมสูง ตายผ่อนส่งไม่รู้ตัว
อาหารที่มีโซเดียมสูง ล้วนถูกปรุงแต่งอย่างจัดจ้านและอันตรายมากนะรู้ยัง เมื่อเร็วๆ นี้ อะพินอ่านหนังสือพิมพ์แล้วเจอข่าวหัวข้อหนึ่ง เกี่ยวกับการกินเค็มของคนไทย ถึงขั้นต้องเอามือนาบอกด้วยความตกใจเบาๆ เพราะเพิ่งรู้ว่า ปัจจุบันคนไทยเรากินโซเดียมเฉลี่ยประมาณ 4 กรัมต่อวัน จากที่ควรกินแค่ 2 กรัมต่อวัน เป็นสาเหตุของสารพัดโรคที่ตามมามากมาย จนทำให้เกิดกระแสการรณรงค์ต่างๆ ว่าแต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าอาหารที่กินอยู่ทุกวันนี้มีโซเดียมเท่าไหร่ อะพินขอยกตัวอย่างเมนูพีคๆ มาให้ดูกัน ถ้ารู้ความจริง รับรองว่าต้องไม่อยากกินไปอีกนานเลยล่ะ
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มได้ให้ข้อมูลว่า คนไทยเราใช้เกลือในการปรุงอาหารมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ทั้งปลาเค็ม กะปิ ปลาร้า ส้มตำ อาหารหมักดอง รวมทั้งอาหารญี่ปุ่น เกาหลีซึ่งมีรสค่อนข้างเค็ม มีสถิติบอกไว้ว่าคนญี่ปุ่นกินเค็มมากที่สุดในโลก แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ยิ่งสะดวก หาง่าย เปิดปุ๊ปกินได้เลย ยิ่งอันตราย เพราะอาหารที่สามารถเก็บไว้ในนานๆ ยิ่งต้องใส่เกลือเพิ่ม มีความเค็มกว่าอาหารที่ปรุงสดใหม่ถึง 30%
คนส่วนใหญ่จะได้รับโซเดียมจากเกลือ แต่จะมีโซเดียมอยู่ประเภทหนึ่งที่ไม่เค็มอย่างเช่น โซเดียมโมโนกลูตาเมต หรือที่รู้จักกันในนาม ผงชูรส แล้วอีกอย่างก็คือ ผงฟู ในเค้ก คุ้กกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าคนไทยกินเกลือเฉลี่ยเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่า ทำให้มีผู้ป่วยโรคไตที่ต้องได้รับการฟอกไตมีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ต่อปี ทางทีดีควรกินเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา/วัน น้ำปลาไม่เกิน 3 ช้อนชา/วัน หรือ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน
มาปรับลิ้นลดเค็มกันเถอะ!
ลิ้นคนเราสามารถปรับได้นะรู้ยัง ถ้าลองลดความเค็มกินจืดสักระยะหนึ่ง ต่อมรับรสที่ลิ้นจะไวขึ้น แม้จะกินอาหารที่มีรสเค็มนิดเดียวก็จะรู้สึกว่าเค็มแล้ว โดยเริ่มจากทำอาหารลดเค็มลง 10% ผ่านไปสัก 2 อาทิตย์หรือหนึ่งเดือน ก็ให้ลดลงอีก 10% ลดทีละน้อยแล้วต่อมรับรสจะค่อยๆ ไวขึ้น แต่ก็ยังมีความสุขในการกินเหมือนเดิม แล้วถ้าลองกลับไปกินตำปูปลาร้าของโปรด คุณจะกินไม่ได้เลยล่ะ
ตัวช่วยลดความเค็ม
– ใช้รสอื่นมาทดแทนเช่น รสเปรี้ยวจากมะนาว รสเผ็ดจากพริก หรืออาจใช้สมุนไพรเพื่อแต่งรสและกลิ่นก็จะสามารถลดรสชาติเค็มลงไปพร้อมกับยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย
– สารทดแทนความเค็มที่ปัจจุบัน อย. อนุญาติให้ใช้คือ โพแทสเซียม ซึ่งจะอยู่ในรูปของเครื่องปรุงรสโลว์โซเดียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำปลา น้ำมันหอย ซีอิ๊ว ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ
– ลดความถี่และปริมาณการกินอาหารที่ใช้ ‘น้ำจิ้ม’
– ต้องไม่กินจำเจอย่างเดียว
อาหารต้องห้าม ยิ่งกินยิ่งเหมือนตายผ่อนส่ง!
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
โจ๊กซอง
โซเดียมเพียบ แนะนำว่าควรกินแบบที่ทำสดใหม่ดีกว่านะ
มันฝรั่งทอด และข้าวโพดคั่ว
เป็นขนมที่ติดอันดับความเค็มสูงสุด น่ากลัวม๊ากกก
พริกเกลือ
ใครที่ติดเวลากินผลไม้แล้วต้องเคียงด้วยพริกเกลือ อะพินขอบอกไว้เลยว่าควรงด เพราะในผลไม้มันมีรสชาติความหวาน และวิตามินในตัวอยู่แล้ว พยายามกินแบบไม่ต้องจิ้ม แล้วลิ้นเราจะชินไปเอง
พริกน้ำปลา
กลายเป็นวัฒนธรรมการกินของคนไทยไปแล้ว ยังไม่ทันชิม แต่ต้องขอปรุงไว้ก่อน เป็นพฤติกรรมความเคยชินที่จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวนะ ลดๆ ลงบ้าง เดี๋ยวจะหาว่าอะพินไม่เตือน
อาหารหมักดอง
อาหารที่ผ่านการแปรรูป หรือการถนอมอาหาร ยิ่งพวกน้ำปลาร้า 100 กรัม มีโซเดียมสูงถึง 6,016 มิลลิกรัม, ปูเค็ม 100 กรัม ก็เยอะมาก เพราะมีถึง 9,620 มิลลิกรัม ส่วนปลาทูเค็ม 100 กรัม มีโซเดียม 4,772 มิลลิกรัม สูงปรี๊ดจนน่าตกใจ
ก๋วยเตี๋ยวน้ำ 1 จาน 1,200-1,500 มิลลิกรัม
ทราบหรือไม่ว่าก๋วยเตี๋ยวน้ำจะเค็มกว่าก๋วยเตี๋ยวแห้งถึง 40% ยิ่งพวกน้ำต้มยำ ต้มโคล้งนี่โซเดียมกระหน่ำมาก ถ้าจะกินก็ควรกินแต่น้อยเอาแบบขลุกขลิกพอ ไม่ต้องถึงขนาดซดหมดชามหรอกนะ
อาหารจานเดียว
ข้าวคลุกกะปิ 1,745 มิลลิกรัม ,ราดหน้า 1,819 มิลลิกรัม, ก๋วยจั๊บ 1,450 มิลลิกรัม ขนมจีนน้ำยา 1,700 มิลลิกรัม เฉลี่ยแล้วอาหารจานเดียวจะมีโซเดียมอยู่ที่ประมาณ 1,000 อัพทั้งนั้น นั่นเท่ากับว่าถ้ากิน 3 มื้อต่อวันจะได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่าเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมเครื่องปรุงพวกพริกน้ำปลาที่กระหน่ำใส่เข้าไปอีก ซึ่งเท่ากับยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณโซเดียมถึงช้อนชาละ 500 มิลลิกรัม…โอ้แม่เจ้า!!!
ดูปริมาณโซเดียมแล้วอยากจะร้องกรี๊ด! เพราะแต่ละอย่างนี่ของโปรดทั้งนั้นเลย เอาเป็นว่านานๆ กินที พอให้หายอยากก็แล้วกันเนอะ
เรื่อง : apin_praewnista
IG : @apin_praewnista
The post อย่า ‘เค็ม’ ให้มากนัก ระวังเป็นโรค!…มาดู อาหารที่มีโซเดียมสูง รู้แล้วแทบกินไม่ลง! appeared first on แพรวดอทคอม.